วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผ้าไทยภาคกลาง

0
ในภาคกลาง ไม่ปรากฏร่องรอยที่ชัดเจนของกลุ่มช่างทอผ้าในอดีต แม้จะมีการปลูกฝ้ายกันมากก็ตาม ในภายหลังมีการอพยพชาวบ้านจากหัวเมืองล้านนา จากฝั่งลาวลงมา

ชาวลาวเวียง แถบอุทัยธานีและชัยนาท นิยมทอผ้าจกไหม


ชาวไทยยวน แถบสระบุรีและราชบุรี ทอผ้าซิ่น มัดก่าน ตีนจก และยกมุก
ผ้าจก เป็นผ้าทอผืนแคบ หน้ากว้างประมาณ ๑ ศอก ทอด้วยฝ้าย หรือไหมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทอผสมกันทั้งสองอย่าง เป็นผ้าทอพื้นบ้าน ที่มีความประณีตงดงาม และใช้เวลาในการทอมาก
คำว่า “จก” หมายถึง การล้วง ควัก หรือดึง เป็นกรรมวิธีในการทำให้เกิดลวดลาย บนผ้าทอชนิดนี้ ใช้ประกอบตกแต่งกับผ้าชนิดอื่น เช่น นิยมใช้ต่อเชิงผ้าซิ่น เรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก”

ชาวไทยพวน แถบลพบุรี นิยมทอผ้ามัดหมี่
การทอผ้าไหมมัดหมี่ จะต่างไปจากการทอผ้าไหมชนิดอื่นๆ คือจะนำเอาเส้นไหมมามัด ให้เป็นลวดลายตามต้องการก่อน จึงจะนำไปย้อมสี แต่ก่อนจะนำไปย้อมสี การทอผ้าไหมทุกชนิด จะต้องผ่านกระบวนการเดียวกัน การมัดไหม ให้เป็นลวดลาย เรียกว่า “มัดหมี่” มีวิธีการคือ เอาเชือก หรือฟางมามัดเส้นไหม ที่พันอยู่กับหลักหมี่ ให้เป็นลวดลายตามต้องการ แล้วนำเส้นไหมที่มัดแล้วนี้ไปย้อมสี แล้วนำมามัดแล้วย้อมอีก เพื่อให้เกิดลวดลาย และสีสันที่ต้องการบนผืนผ้า เมื่อย้อมเสร็จแก้เชือกที่มัดออก นำเส้นไหมมากรอเข้าหลอด เวลาทอก็เอาหลอดที่กรอไว้พุ่งไป ก็จะได้ลายไปในตัว เวลากรอเส้นไหมเข้าหลอด จะต้องระมัดระวังลำดับให้ถูก ไม่เช่นนั้นเมื่อทอออกมาลายที่ปรากฏ จะไม่สวยงามตามที่ตั้งใจ อาจจะเขย่งสูงบ้างต่ำบ้าง มีรอยต่อลายเห็นชัด หรือกลายเป็นลายอื่น ที่ไม่ได้ตั้งใจมัดไปเลยก็ได้ ส่วนเส้นยืนซึ่งจะเป็นความยาวของผ้านั้น เมือฟอกไหมแล้ว ก็นำไปย้อมสีตามต้องการ และนำไปทอได้เลย

ชาวไทยดำ แถบเพชรบุรี นิยมทอผ้าพื้น หรือผ้าซิ่นลายแตงโม
ชาวกรุงเทพมหานครนั้น ยังมีชาวมุสลิม ที่เรียกว่าแขกจาม ทอผ้าไหม จนถึงทุกวันนี้


ที่มา http://www.thailife.com/thaiwisdom/poompandin/book5/images/page45_47.pdf

No Response to "ผ้าไทยภาคกลาง"

แสดงความคิดเห็น

เพลงผ้า

Calender